วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

ชาวเล ชาวเรา ชนพื้นเมืองที่เกือบถูกลืม


...เรื่องของชาวเล...ที่ภูเก็ต
ชาวเลในประเทศไทยเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่มของประเทศไทย อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่บริเวณจังหวัดระนองตลอดไปจนถึงหมู่เกาะอาดัง-หลีเป๊ะ ลันตาและเกาะภูเก็ต กลุ่มชาวเลเหล่านี้มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง มีภาษาพูดและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ชาวเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีสองกลุ่มด้วยกันคือ ชาวมอเก็นหรือมอแกนและชนชาวอูรักละโว้ยหรือโอรังลาโอ๊ด

กลุ่มที่ 1 ชาวมอเก็นหรือมอแกนกลุ่มที่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์
เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่ตั้งหลักแหล่งถาวร อาศัยอยู่บนเรือเป็นส่วนใหญ่ มีการที่โยกย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างชายฝั่งอันดามันของไทยและชายฝั่งทะเลอีกด้านของพม่า ปัจจุบันยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยอยู่ภายใต้การดูแล(เพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์ด้านอื่นก็ไม่อาจทราบได้)ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

กลุ่มที่ 2 กลุ่มมอเก็นที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านทับตะวันและบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดพังงา พูดภาษาไทยท้องถิ่นใต้ และได้สัญชาติไทยแล้ว

กลุ่มที่ 3 กลุ่มอูรักละโว้ยหรือโอรังลาโอ๊ด
เป็นชนเผ่าชาวเลที่ตั้งหลักแหล่งถาวรในประเทศไทยหลายปีแล้ว ได้ถูกกลมกลืนด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่และได้ปรับวิถีชีวิตดังเดิมเข้ากลมกลืนกับชาวไทยท้องถิ่นใต้(และบางส่วนได้ถูกผสมด้านเชื้อชาติกับชาวไทยในท้องถิ่น )ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่ภูเก็ต,ลันตาและหมู่เกาะอาดังหลีเป๊ะ เรียกขานโดยชาวท้องถิ่นไทยว่า " ชาวเล" หรือชาวอูรักละโว้ย แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวเลจะกลมกลืนกับชาวบ้านมากแล้ว แต่ชาวเล ก็ยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนเองอย่างเหนียวแน่น

" ชาวเผ่าอูรักละโว้ยกับมอเก็นไม่เหมือนกันนะ พวกมอเก็นเป็นพวกอยู่ในเรือ อยู่ไม่เป็นที่ ส่วนพวกเราอูรักละโว้ยเป็นชาวเลที่อยู่ในหมู่บ้านมานานเป็นร้อยปีแล้ว ภาษาพูดก็ไม่เหมือนกันแต่ก็พอสื่อกันรู้เรื่อง" ลุงมณี ผู้อาวุโสชาวอุรักละโว้ยที่แหลมตุ๊กแกภูเก็ตชี้ ข้อแตกต่างให้เห็นด้วยภาษาไทยถิ่นใต้ชัดถ้อยชัดคำ

ผู้ชายชาวเลจะออกไปหาปลาในทะเล ในอดีตลุงมณีเล่าว่า ชาวเลเคยรอนแรมไปหาปลาไกลถึงฝั่งประเทศพม่า เมื่อหาปลาได้ที่ไหนก็จะตากปลาไว้ที่เกาะนั้น ส่วนน้ำก็หาได้ตามเกาะที่แวะผ่าน ตอนขากลับก็จะนำปลาแห้งกลับมาขายที่ภูเก็ต

ผู้หญิงชาวเล จะมีงานประจำวันคือการแกะหอยติบ(หอยชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายหอยนางรมแต่ขนาดเล็กกว่ามาก) ผมเคยถามลุงมณีว่า ทำไมผู้หญิงชาวเลจึงอ้วนทุกคน..คำตอบคือ ชาวเลกินแต่ของดีและไม่ทำอะไรนอกจากนั่งแกะหอยก็เลยอ้วนดังที่เห็น นี้คืออาชีพและวิถีความเป็นอยู่ของชาวเล

ชาวอุรักละโว้ยรักที่จะให้คนนอกเรียก ตนว่า" ไทยใหม่ " ..เกือบลืมบอกไปว่าชาวอุรักละโว้ยได้รับพระราชทานนามสกุล"ประโมงกิจ"จากสมเด็จย่าแล้วนะ ...นามสกุลของชาวอุรักละโว้ยจะเกี่ยวข้องกับน้ำทั้งสิ้น เช่น ประโมงกิจ..ช้างน้ำ และหาญทะเล เป็นต้น

ความเชื่อและศาสนา...แต่เดิมชาวอูรักละโว้ยนับถือวิญญาณ ผีปู่ย่าตายาย ต่อมาก็หันมานับถือศาสนาพุทธ(มีวัดของตนเองด้วยนะ)แต่ภายหลังจากการเกิดเหตุการสึนามิเมื่อปี 2547 ชาวอูรักละโว้ยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การมนุษย์ธรรมจากประเทศตะวันตกดังนั้นชาวเลรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริตส์เป็นจำนวนมาก

ประเพณีบางอย่างที่เกือบจะถูกลืม...ชาวเลใน ภูเก็ตและพังงาจะมีประเพณีการมารับ"ทาน"(ไม่เหมือนขอทานทั่วไปแต่เป็นประเพณีที่ต้องมาขอทาน)จากชาวไทยท้องถิ่นใต้บ้านในช่วงวันสาร์ทไทยหรือวันทำบุญเดือนสิบ ระหว่างการมารอรับทาน ชาวเลบางคนก็จะนำไม้ซางและลูกดอกมาขาย
ความเชื่อเรื่องการยกลูกให้เป็นลูกชาวเล

ระหว่างที่ชาวเลรับ"ทาน" ผู้มาขอทานจะร้อง "เพลงบอก" เพื่อเรียกให้เจ้าของบ้านออกจากบ้านมาให้ทาน เพลงบอกดังกล่าวมักจะ เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวใต้ฝั่งอันดามัน(ที่ถูกลืมจนหมดแล้ว )ระหว่างที่ชาวเลมารับการให้ทานนั้น ครอบครัวไหนที่มีลูกที่เลี้ยงยาก ก็จะขอให้ชาวเลช่วยผูกข้อมือ แล้วยกลูกตนให้เป็นลูกชาวเล เรียกว่ายกลูกให้เป็นลูกของชาวเลตามเคร็ด ว่างั้นเถอะ....เชื่อกันว่า เด็กที่เป็นลูกชาวเลทั้งหลาย จะเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ข้าพเจ้าตอนเด็กๆเป็นเด็กเลี้ยงยาก จึงถูกพ่อแม่ยกให้เป็นลูกชาวเลจนเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของพ่อแม่และกลายเป็นสามีที่เลี้ยงง่ายของภรรยาในเวลาต่อมา....ความหมายลึกๆของคำว่า"ชาวเล " ....เนื่องจากสมัยก่อน(ตอนข้าพเจ้ายังเด็ก) ชาวใต้แถบอันดามันจะไม่นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอยู่ชายทะเล
ดังนั้นคำว่า"ชาวเล"ในความหมายของคนท้องถิ่นอันดามัน นอกจากจะหมายถึงชาวเผ่าอูรักละโว้ย,มอเก็นหรือมอแกนแล้ว ยังใช้เรียกชาวไทยท้องถิ่นที่มีความเป็นอยู่ง่ายๆและไม่ค่อยรักษาความสะอาดอีกด้วย(ขออภัยจริงๆ ครับไม่ได้ตั้งใจกล่าวดูหมิ่นดูถูกแต่นี่คือเกร็ดของเรื่องจริงที่อยากเล่าให้ฟัง)

ลองฟังเสียงอูรักลาโว้ย..เขียนโดย @i ที่ 6:27 ก่อนเที่ยง 0 ความคิดเห็น

ไม่มีความคิดเห็น: