วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พระประจำเมืองภูเก็ต



พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี พระคู่เมืองของชาวภูเก็ต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร สูง 45 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 19 องศา ประดิษฐานบนยอดเขานาคเกิด ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต ทางขึ้นไปยังองค์พระที่เขานาคเกิด (เข้าทางซอยยอดเสน่ห์)มีระยะทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร


ลองฟังตำนานกันเล่นๆ


.....เขานาคเกิดป็นที่รู้จักด้านเกี่ยวกับ พระพุทธศาสนา แต่เดิมในสมัยสุวรรณภูมิอันรุ่งเรือง แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าองค์ปัจจุบัน ชาวภูเก็ตได้ส่งตัวแทน ไปอัญเชิญเสด็จพุทธองค์ มาโปรดชาวเมือง เมื่อพระองค์เสด็จมา พร้อมพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ที่แรกที่เสด็จก็คือ บริเวณเกาะแก้วพิสดาร ได้ทรงแนะนำข้อธรรม แก่ชาวบ้าน ชาวบ้านจึงขอให้พระองค์ ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ เป็นเครื่องสักการบูชาที่ริมน้ำ และที่สันเกาะบนก้อนหินใหญ่อีก 1 คู่ ขนาดเท่าครึ่งของคนปกติ แล้วเรียกขานต่อๆ มาว่า “ รอยพระพุทธบาทเกาะแก้วพิสดาร ” เมื่อขึ้นมาโปรดสัตว์ ที่ริมหาดแผ่นดินใหญ่ ชาวบ้านจึงกราบทูล ขอรอยพระหัตถ์ไว้อีก 1 รอย แถวนั้นจึงเรียกกันว่า “ เราไหว้ ” เนื่องจากเป็นสถานที่ที่กราบไหว้พระพุทธเจ้า และรอยพระหัตถ์ ต่อมาเมื่อกาลเวลาผ่านไป คนลืมรอยพระหัตถ์ไปแล้ว ประกอบกับสำเนียงพื้นเดิมเปลี่ยนไป คำว่า “ เราไหว้ ” จึงสั้นลง คือ สระ “ -เ ” หายไปเหลือแต่ “ รา ” และ พยัญชนะ “ ห ” หายไปเหลือแต่ “ ไว ” กลายเป็น “ ราไวย์ ” หรือหาดราไวย์ ในปัจจุบัน


ต่อมาพุทธองค์ ได้เสด็จตามคำเชิญของเทวดาและนาค จากริมหาดราไวย์ มาโปรดบนยอดเขา โดยประทับที่โขดหินใหญ่บนยอดเขานั้น พระพุทธองค์ ได้ตรัสสั่งสอนพระธรรม แก่เหล่าเทวดาและนาค จนเข้าใจในพระธรรม ไปเกิดจุติในสรวงสวรรค์ ที่บารมีธรรมสูงขึ้น มีรัศมีกายสว่างไสว ดังดอกไม้ไฟที่พุ่งสู่ท้องฟ้า าวบ้านซึ่งอยู่ใกล้บริเวณนั้น ได้เห็นปรากฏการณ์แห่งจิตวิญญาณนั้น จึงขนานนามยอดเขานั้นว่า “ นาคเกิด ” ส่วนเหล่านาคที่ยังไม่เข้าสู่ เทวธรรมชั้นสูง ก็ได้ทูลขอรอยพระบาท แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อสักการบูชาแก่ต่อไป ได้แก่ รอยประทับนั่งของพระพุทธองค์ รอยพระหัตถ์ และรอยพระพุทธบาท


เขานาคเกิดนี้ เป็นยอดเขาที่สูงมาก และน่าจะสูงที่สุดในภูเก็ต ตั้งอยู่ในเขตติดต่อกัน ระหว่างตำบลกะรน และตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต แต่ทางขึ้น หากไปทางตำบลฉลอง จะสะดวกและง่ายดายกว่า โดยไปตามเส้นทางในซอยยอด เสน่ห์ (หมู่ 10 ) ระยะทางจากปากซอย ถึงยอดเขาก็ประมาณ 6 กม. เส้นทางในช่วงแรกนั้น ลาดยางอย่างดี ถนนจะแคบไปบ้าง เพราะเป็นถนนในหมู่บ้าน ระหว่างทางบรรยากาศรอบๆ ร่มเย็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดของภูเก็ต ทางคณะกรรมการจัดสร้าง ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐบาล ภาคเอกชน ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธา ได้สร้างเพื่อให้เป็น พระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต นามว่า " พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี" หน้าตักกว้าง 25.45 เมตร สูง 45 เมตร) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช และพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี


ข้อมูลตำนาน : Phuketindex




วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

สะพานสารสิน


ฝั่งท่านุ่น
สะพานสารสินเก่า บรรยากาศที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
  อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนมือทองชุดเหมืองแร่ที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วในหมู่นักอ่านเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ได้เขียนไว้ในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ ชุดที่2 ตอน ..สะพานข้ามอดีตไม่ได้..ไว้อย่างน่าฟัง

....ระหว่างรถเล่นข้ามสะพานสารสินจากฝั่งพังงาไปยังฝั่งภูเก็ต ข้าพเจ้านึกถึงความหลังเมื่อครั้งเราต้องข้ามด้วยแพยนต์ กาลเวลาผ่านไปยี่สิบปีย่นระยะการเดินทางได้ถึงยี่สิบนาที แต่บรรยากาศบนแพอันถือเป็นการท่องเที่ยวน้อยๆ ได้สิ้นสูญไปกลายเป็นความรีบด่วนของระบบวัตถุ...
....มนุษย์ใช้เวลาถึง 9 เดือน เพาะตัวเองในท้องแม่ ใช้เวลาหลายเดือนหัดเดินเพื่อหากิน หัดพูดเพื่อติดต่อและเอาตัวรอด หลายปีเขาจึงโต หลายสิบปีเขาจึงตั้งบ้านและตั้งครอบครัว..
...เขาเบื่อความเชื่องช้าที่กระซิบฝากกันมาในสายเลือดนับโกฏินับล้านปี เขาจึงมีปมด้อยเสมอในความเชื่องช้า เขาแสวงหาความเร็วทุกอย่าง แม้แต่ความพยายามที่จะบรรลุความสำเร็จทางจิตใจ

..แพยนต์กลายมาเป็นสะพานด้วยสะเก็ดขี้ผงแห่งความจริงอันนี้..

วันเสาร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ขอแทรกภาพ เทศกาลกินผัก...กันอีกหน่อย





































สำหรับท่านที่ชื่นชอบภาพหวาดเสียว ขอเชิญทัศนาเลยครับ..(เอาภาพไปได้ครับไม่สงวนลิขสิทธิ์)

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ขออนุญาต ออกความเห็น เรื่อง...ช่องปากพระ..

ปัจจุบันนี้ คำว่า ช่องปากพระ เป็นที่รู้กันว่าเป็นชื่อเรียกช่องแคบสุด ที่แยกคั่นเกาะภูเก็ตออกจากแผ่นดินใหญ่
มีความเชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งเกาะภูเก็ตเป็นแหลมขนาดเล็กติดกับแผ่นดินใหญ่พังงาปัจจุบัน(กรีกโบราณเรียกว่าจังซีลอน) ที่แหลมจังซีลอนนี้เป็นที่ตั้งของเมืองท่าค้าค้ายที่สำคัญของอินเดียและชวา ต่อมาตรงคอคอดของแหลมจังซีลอนก็ถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนแผ่นดินแยกขาดจากกัน ฟังแล้วก็น่าจะมีเหตุผล..ผมสังเกตุดูชายฝั่งบริเวณช่องปากพระ(ฝั่งพังงา) บริเวณนี้จะถูกกระแสน้ำกัดเซาะเข้าไปในแผ่นดินทุกปี

อีกตำนานก็เล่าว่า สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตอนเกาะภูเก็ตถูกพม่าโจมตี ปากพระซึ่งเป็นป้อมค่ายหน้าด่านที่ตั้งอยู่บนฝั่งภูเก็ต คงไม่พ้นที่จะเป็นเป้าหมายแรกของกองทัพพม่า บางตำนานกล่าวว่าคุณหญิงจันกลับจากพังงามาเมืองถลางก็ผ่านทางช่องปากพระนี้แหละ (อาจจะข้ามฟาก ตรงบริเวณช่องทางออกสู่ทะเลอันดามันก็เป็นได้..เพราะเป็นส่วนแคบที่สุดและท่านคงข้ามเรือตอนกระแสน้ำน้ำนิ่ง)

: ขอยกข้อความบางส่วนจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี มานำเสนอเพิ่มเติมหน่อยครับ..
......เมื่อจอมร้างบ้านเคียนถึงแก่กรรมลง พญาถลางอาดบุตรชายและน้องชายท่านผู้หญิงจันได้ครองเมืองถลาง ครองได้ไม่นานก็ถูกผู้ร้ายยิงตาย หลังสมเด็จพระเจ้าตากสินปราบก๊กพระยานครได้ประมาณ 7 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรินทราชาพิมลอัยา ( ขัน ) เป็นเจ้าเมืองถลาง ท่านผู้หญิงจันเป็นแม่เมืองปกครองเมืองถลางด้วยความสงบสุขสืบมา ครั้นเมื่อพระยาสุรินทราชาพิมลอัยา ( ขัน ) เจ้าเมืองเสียชีวิต กองทหารจากเมืองหลวงที่ยึดค่ายปากพระได้เข้าเกาะตัวจับกุมท่านผู้หญิงจันเป็นเชลยศึกไปที่ค่ายปากพระ ในข้อกล่าวหาอ้างว่าสามีเป็นหนี้แผ่นดิน

ส่วนแผ่นดินพม่ามีพระเจ้าปดุง[2]ครองราชสมบัติใต้ฟ้าแผ่นดินอังวะ ลุปี พ.ศ. 2328 พม่าได้เตรียมกองทัพใหญ่ด้วยพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขต[3] ด้วยกองทัพที่ยิ่งใหญ่แกร่งกล้าในการรบสามารถปราบรามัญ ไทยใหญ่ มณีปุระยะไข่ รวบรวมไพร่พลได้ถึง 144,000 คน จัดเป็นทัพใหญ่หมายโจมตีสยามประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในนามสงคราม 9 ทัพ พม่ายกทัพเข้าบุกตีค่ายปากพระ[4] ซึ่งทหารของรัชกาลที่ 1 เป็นผู้บัญชาการค่าย พญาพิพิธโภไคยหนีไปเมืองพังงา ท่านผู้หญิงจันในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเชลยศึก ได้หนีข้ามช่องปากพระ[5]มายังเข้าเมืองถลาง ผ่านบ้านไม้ขาว บ้านสาคู และบ้านเคียน[6]อันเป็นที่ตั้งเมืองถลาง.....

คำว่า..ช่องปากพระ ที่ท่านคุณหญิงจันข้ามฟากไปเกาะภูเก็ต..ตามที่บันทึกในตำนานนั้น เป็นบริเวณจุดไหนกันแน่...อาจหมายถึง บริเวณช่องทางออกสู่ทะเลอันดามัน(ชุดที่เรียกกันว่าช่องปากพระในปัจจุบัน) หรือบริเวณที่ตั้งของสะพานสารสิน หรือ บริเวณท่าแพเก่า(ท่านุ่นท่าฉัตรชัย)
พรุ่งนี้ค่อยว่ากันต่อครับ..(ขอเวลาวิเคราะห์แบบคุยกันเล่นๆ..อีกนิด)
( ดูแผนที่ภูเก็ตสมัยที่ยังเป็น จังซีลอน จาก ลิงค์ ที่ [4] )

วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2551

วันอาทิตย์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2551

ข้อเขียนเกี่ยวกับขอทานชาวเล..ของ จิรายุทธ ตั้งจิตต์


..เพื่อนๆครับ.. ผมไม่ได้ตั้งใจจะเอาเปรียบคุณ จิรายุทธ เจ้าของบทความเลย..แต่เพราะเวปไซต์ของบทความนี้อาจจะมีปัญหาไวรัส ผมเลยไม่อยากสร้างปัญหาให้ผู้อ่านของผม..ก็เลยลอกมาให้อ่านกันทั้งดุ้นจะปลอดภัยกว่า..ก็ต้องขออนุญาตคุณจิรายุทธในการเผยแพร่บทความต่อนะครับ

By จิรายุทธ ตั้งจิตต์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา
ขอทานในยุคปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคมที่รอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยทั่วไปเราสามารถพบเห็นได้ตามแยกถนนต่างๆ
ใต้สะพานลอย เป็นกลุ่มคนที่ใส่เสื้อผ้าขาดๆ เนื้อตัวสกปรก ซึ่งในปัจจุบันมีมากจนกลายเป็นปัญหาทางสังคม และสิ่งของที่ขอทานได้คือ เงิน
แต่สำหรับจังหวัดภูเก็ตของเราแล้ว การขอทาน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำรงชีวิต เกิดขึ้นจากความศรัทธาในความเชื่อ และการเคารพต่อ
บรรพบุรุษ หล่อหลอมรวมกันถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชาวไทยใหม่(ชาวเล)ชาวพื้นเมืองดั้งเดิมของภูเก็ต จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่มีความ
สำคัญต่อการดำรงชีวิต นั่นคือการขอทาน จะมีความแตกต่างจากขอทานทั่วไปหรือไม่ สิ่งของที่เขาอยากได้คืออะไร และการขอทานที่ว่านี้มีความ
สำคัญอย่างไรกับวัฒนธรรมของชาวภูเก็ต ขอทานกลายมาเป็นวัฒนธรรมได้อย่างไร วันนี้คุณจะได้รู้ถึงเรื่องราวทั้งหมด

ขอทาน หรือวัฒนธรรมการขอที่ว่านี้ อยู่คู่กับชาวภูเก็ต มานานหลายชั่วอายุคน โดยชาวไทยใหม่หรือที่ชาวภูเก็ตเรียกว่า ชาวเล เป็นกลุ่มคนพื้น
เมืองของภูเก็ตที่เริ่มวัฒนธรรมการขอทาน โดยเราสามารถพบเห็นการขอทานของชาวไทยใหม่ได้เพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น นั่นคือช่วง ประเพณีวัน
สาทเดือนสิบ ของชาวภูเก็ต เราจะเห็นชาวไทยใหม่หลายครอบครัว หอบลูกจูงหลาน เดินทางมาตามวัดต่างๆ เช่น วัดพระทอง วัดเทพกระษัตรี วัด
บ้านแขนน และวัดศรีสุนทร พร้อมกับอุปกรณ์ที่สำคัญในการขอทานนั่นคือ ถังพลาสติกสีเหลืองใบใหญ่ ที่ใช้ในการใส่ของจากคนที่เดินทางมาทำบุญ
ที่วัด ความแปลกตาบางอย่างที่เราสังเกตได้จากการขอทานของชาวไทยใหม่ เป็นตัวแบ่งแยกความต่างออกจากขอทานทั่วไปโดยสิ้นเชิง คือ ขอทาน
ทั่วไปจะมีการแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าขาดๆ มองดูน่าสงสาร นั่งขอเงินตามริมถนนเพื่อซื้อข้าวกิน แต่การขอทานของชาวไทยใหม่แล้วเป็นการขอทาน
ขนมจากคนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด อันได้แก่ ขนมเทียน ขนมนมสาว ขนมกระยาสาท ขนมต้ม และอีกหนึ่งความต่างคือ คนที่มานั่งขอทานทุกคน
เป็นคนที่มีฐานะ จะเดินทางมาขอทานด้วยรถยนต์ส่วนตัว บางครอบครัวก็มาด้วยรถเก๋ง บางครอบครัวก็มาด้วยรถกระบะป้ายแดง บางคนก็ใส่สร้อย
ทองเต็มตัว มองดูแล้วรวยกว่าคนที่ให้ทานอีก แล้วอะไรที่เป็นเหตุให้ชาวไทยใหม่เหล่านี้ต้องมานั่งขอทาน เพียงเพื่อต้องการแค่ขนม หรือมีอะไร
บางอย่างที่มีมากกว่านั้น

จากการที่ได้เข้ามาพูดคุยกับ คุณลุงทองปัน หาดชายทอง ผู้นำกลุ่มชาวไทยใหม่ บ้านราไวย์ ตำบลราไวย์หนึ่งในจำนวนคนที่เดินทางมาเพื่อขอ
ทาน ทำให้เราทราบว่า การขอทาน หรือวัฒนธรรมการขอทานของชาวไทยใหม่นั่น เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งทางความเชื่อ ที่มีมานานคู่กับ
การดำรงชีวิตของชาวไทยใหม่ที่ปฏิบัติกันมาหลายชั่วอายุคน การขอทานเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ในช่วงประเพณีวันสาร์ทเดือนสิบของชาวภูเก็ต คือ
เป็นวันที่ทางโลกที่สามจะเปิดให้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษลงมายังโลกมนุษย์ เพื่อมารับสิ่งของและผลบุญที่ทางลูกหลานทำให้ แต่ในสมัยก่อนชาว
ไทยใหม่มีฐานะยากจนมากดังนั่นจึงต้องเดินทางไปขอทานจากชาวบ้านเพื่อมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม ของที่ได้มามักจะเป็นขนม เสื้อผ้า และ
ของใช้ต่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่ในปัจจุบันมีขนม เพียงอย่างเดียว และได้สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้คุณลุงทองปัน ยังบอกอีกว่า
ชาวไทยใหม่ยังเชื่อที่ว่า หากครอบครัวใดไม่เดินทางไปขอทานแล้ว ผีบรรพบุรุษจะลงโทษ และจะทำให้ครอบครัวนั่นเกิดเหตุร้าย และทำให้คนใด
คนหนึ่งในครอบครัวเสียชีวิตได้ ดังนั่นจึงเป็นเหตุให้ชาวไทยใหม่ต้องเดินทางไปขอทานถึงแม้ว่าทางครอบครัวจะมีฐานะดี และไม่ได้คิดที่จะเป็นขอ
ทานจริงๆ ก็ตาม เพราะถ้าไม่ทำนั่นหมายถึงการเผชิญหน้ากับความตาย

และนี่ก็คือ สิ่งที่จะอธิบายความหมายของวัฒนธรรมการขอทานของชาวไทยใหม่ได้เป็นอย่างดี ว่าทำไมถึงต้องมาขอทาน ขอทานแล้วได้อะไร
มีความสำคัญอย่างไร สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต การขอทานของชาวไทยใหม่เป็นเพียงการ
สานต่อทางวัฒนธรรมและการสืบสานทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การของทานที่สร้างปัญหาให้กับสังคมเหมือนที่เราพบเห็นโดยทั่วไป วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่
ดีงาม สวยงาม เป็นมรดกของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละยุคสมัย และที่สำคัญวัฒนธรรมยังเป็นตัวที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์ทางสังคม ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะ
มองว่าการที่มานั่งขอทานเป็นเรื่องที่น่าอาย อาชีพขอทานเป็นอาชีพที่ไม่มีศักดิ์ศรี แต่สำหรับชาวไทยใหม่แล้ว การขอทานสามารถที่จะบอกถึงสิ่งที่
แฝงมากับการขอทานนั่นคือ การสืบทอดทางวัฒนธรรมที่ยาวนานและการสานต่อทางวัฒนธรรม ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและคุณค่าทางวัฒนธรรม
และสามารถบอกเล่า และถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลาย ได้อย่างเต็มความภาคภูมิใจ

และนี่คืออีกหนึ่งวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตที่ถ่ายทอดความเป็นอารยะธรรมของภูเก็ต ได้อย่างชัดเจน สมกับคำกล่าวที่คุ้นหูว่า “ภูเก็ตเมืองแห่ง
วัฒนธรรม ไข่มุกแห่งท้องทะเลอันดามัน”

งานบุญเดือนสิบ(วันสารทไทย)..ที่ภูเก็ต


วันสารทไทย(เขียนว่าวันสารทจริงๆครับ)..วันสำคัญของชาวไทยโดยเฉพาะชาวไทยภาคใต้
หากวันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญของชาวคริสต์ฉันใด..วันสารทไทยก็สำคัญกับชาวใต้ไม่แพ้กัน

..งานบุญวัน สารทเดือนสิบ หรือ บุญสลากภัตรนี้ เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศไปให้แด่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ที่อาจจะไปเกิดใน ภพภูมิที่ไม่ดี โดยเฉพาะเกิดเป็นเปรต ที่ต้องอาศัยผลบุญจากผู้อื่นในการเลี้ยงชีวิต และเปรตเหล่านั้นจะได้รับผลบุญ ก็ต่อเมื่อญาติๆนำข้าวปลาอาหารไป ทำบุญถวายพระภิกษุสามเณร โดยเฉพาะการถวายเป็นสังฆทานจะได้ผลานิสงส์มาก ด้วยคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนานี้ จึงเป็นเหตุให้ชาว
พุทธเรา(โดยเฉพาะชาวไทยภาคใต้)ถือเป็นประเพณีที่ต้องปฎิบัติ ในวันบุญเดือนสิบนี้ เชื่อกันว่าปู่ย่าตายายที่อยู่ในอบายภูมิจะได้รับการปลดปล่อยมาให้พบปะลูกหลานปีละครั้ง ตั้งแต่แรม 1 ค่ำเดือน10(เรียกว่าวันทำบุญเล็กหรือวันหมรับเล็ก)ถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน10(เรียกว่าวันทำบุญใหญ่หรือวันหมรับใหญ่) ซึ่งวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของปีที่ปู่ย่าตายายจะได้พบปะและรอรับผลบุญจากลูกหลาน..ดังนั้นในการทำบุญเดือน10จึงมักจะทำกัน2วันคือ..วันทำบุญเล็ก(ปีนี้ตรงกับวันที่15 กันยายน 2551)และวันทำบุญใหญ่ซึ่งจะตรงกับวันพรุ่งนี้(จันทร์ที่ 29 กันยายน2551)

..การเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ.. ฟังแล้วน่าเบื่อสำหรับคนภาคอื่นนะครับ..แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นความเชื่อของคนแต่ละท้องถิ่นซึ่งต่างก็มีประเพณีปฏิบัติปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปนะครับ..โดยเฉพาะคนไทยภาคใต้แถบจังหวัดนครศรีธรรมราชจะถือว่าวันนี้สำคัญมาก..ละเสียไมได้เลย

ทีนี้..มาดูที่ภูเก็ตบ้างนะครับ
งานทำบุญเดือนสิบที่ภูเก็ต จะมีประเพณีปฏิบัติที่แตกต่างกับทางนครศรีธรรมราชอยู่บ้าง(ที่นี่ไม่มีประเพณีชิงเปรต)..แต่จะมีประเพณีให้ทานที่ต่างออกไป คือให้ทานกับชาวเล...ชาวเลก็คือชาวไทยใหม่เรานี้แหละ..เขามีประเพณีที่จะต้องมาขอทานในช่วงวันสารท..ในอดีตชาวเลจำนำพาชนะที่ทอด้วยเสื่อกระจูดหรือเรียกกันว่ากระสอบมาใส่ทานที่ชาวมาให้..พร้อมกับการขอทานชาวเลบางคนก็นำสินค้ามาขายเช่นสมุนไพรจากทะเล กัลปังหาและไม้ซางที่ใช้เป่าลูกดอก(ในเรื่องเงาะป่านะแหละ)มาขายให้กับเด็กๆที่ไปทำบุญกับผู้ปกครอง..แต่นั่นมันคืออดีตนะครับ ทุกวันนี้ชาวเลอาจจะขับรถกระบะไปขอทานและชาวพุทธก็อาจจะนั่งตุ๊กๆไปทำทาน. ก็เป็นได้..แต่ในปีนี้ ผมไปทำบุญที่วัดแขนน อำเภอถลาง..ที่วัดแขนนหรือวัดบ้านแหนนปีนี้ ไม่มีชาวเลมาขอทานให้เห็นเลย ..ผมจึงรู้สึกเหมือนจะขาดอะไรที่สำคัญไปอย่างหนึ่ง จริงๆ


..ในภาพจะเห็นพุทธศาสนิกชนนำอาหารไปถวายพระสงฆ์ในวันสารทปีนี้ที่วัดแขนน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต













รายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีการขอทานของชาวเลภูเก็ต..ดูได้ที่..ข้อเขียนของ จิรายุทธ ตั้งจิตต์ (ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับอุดมศึกษา)

วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

ว่ากันเรื่อง ..เทศกาลกินผักกันหน่อยนะครับ



เอาเรื่อง...เทศกาลกินผักของภูเก็ต..หน่อยเป็นไง
..ผู้ประกอบด้านการท่องเที่ยวในภูเก็ตเกิดอาการร้อนๆหนาวๆกันเป็นแถวจากพิษไข้กู้ชาติของกลุ่มพันธมิตรภูเก็ต ..แต่ไม่ต้องห่วงครับหลังจากการยกเลิกพ.ร.ก.ภาวะฉุกเฉินแล้ว ทุกอย่างก็ดีขึ้นเป็นลำดับ..ตอนนี้เริ่มจะเห็นนักท่องเที่ยวประปรายแล้วในอีกไม่ช้าทุกอย่างก็จะเป้นปรกติ
...ขอเชิญนักท่องเที่ยวชาวไทยทุกท่านเข้ามาร่วมในงานเทศกาลกินผักที่ภูเก้ตได้เลยครับจะเริ่มวันที่ 29 กันยายน นี้แหละ ขั้นตอนแบบง่ายๆก็ปฏิบัติดังนี้ครับ
1 เริ่มกันตั้งแต่เย็นวันที่ 28 นี้แหละ(เรียกว่าล้างท้อง..ตามที่ปฏิบัติกัน)จะกินที่บ้านหรือที่ศาลเจ้าก็ได้
2 ทางศาลเจ้าจะทำพิธียกเสาโกเต๊ง(เสาประธานในพิธีกินผัก)เย็นวันที่ 28 นี้แหละ..ไปร่วมกันหน่อยก็ดีนะครับเพราะถือเป็นขี้นตอนที่สำคัญมาก




เสาโกเต้ง เสาประธานในพิธี(บนซ้าย) ตะเกียง9ดวงสัญลักษณ์กิ๊วอ๋อง (บนขวา)

3 วันพร่งนี้(29 กันยายน)ก็เริ่มเข้าไปไหว้พระกันที่ศาลเจ้ากันได้แล้ว เพื่อความสะดวกเรื่องอาหารการกิน ก็ผูกปิ่นโตกับศาลเจ้าที่ท่านสะดวก โดยช่วยทำบุญ(ด้วยเงินหรือข้าวสารอาหารแห้ง) ตามกำลังศรัทธา ไม่กำหนด
4 สำหรับคหบดี ชาวภูเก็ตท้องถิ่น(ปุ๊นเต่)ส่วนใหญ่ก็จะบริจาคกันทำบุญกันเป็นกอบเป็นกำก็ในช่วงเวลานี้แหละ
5 ทุกคนเข้าร่วมได้เลยครับ ไม่ว่าลูกไทยลูกแขกหรือลูกเจ๊ก..ไม่มีรังเกียจกัน(ไม่ใช่วิถีพุทธ)
6 สำหรับท่านที่ไม่สะดวกที่จะรับอาหารที่ศาลเจ้า ก็มีร้านอาหารเจของเอกชนไว้บริการ ทั่วไปบริเวณโดยรอบศาลเจ้า
7 ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง ที่ขึ้นชื่อ ก็มีดังต่อไปนี้
7.1 ศาลเจ้าจุ๊ยต่ย เป็นศาลเจ้าที่ใหญ่ที่สุด มีผู้เข้าร่วมพิธีมากทุกปี มีบริการผูกปิ่นโตและบริการอาหารฟรีสำหรับทุกคนที่ศษลเจ้า
7.2 ศาลเจ้าบางเหนียว
7.3 ศาลเจ้าสามกอง
7.4 ศาลเจ้า เจ่งอ๋อง บริเวณ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
7.5 ศาลเจ้าท่าเรือ
7.6 ศาลเจ้ากะทู้
เหล่านี้คือศาลเจ้าหลักๆนะครับ..ทุกศาลเจ้าจะมีตารางกำหนดพิธีกรรมที่ไม่ตรงกัน ยกเว้นพิธียกเสาโกเต๊งเท่านั้น....


ก่อนอื่น..มาว่าตามเขาว่ากันหน่อย
....ในพิธีกินผักนั้น ช่วงบ่ายก่อนวันพิธีหนึ่งวัน จะมีพิธียกเสาโกเต้ง ไว้หน้าศาลเจ้า เพื่อประกอบพิธีอัญเชิญเจ้า “ ยกอ๋องซ่งเต่ ” (พระอิศวร) และ “ กิ๋วอ๋องไต่เต่ ” (ผู้เป็นใหญ่ทั้งเก้า) มาเป็นประธานในพิธี และจะนำตะเกียง 9 ดวง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ ของการเริ่มพิธี ไว้บนเสาโกเต้งเวลาเที่ยงคืน นอกจากนี้ตลอด 9 วันของพิธีกินผัก จะมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีอัญเชิญลำเต้า - ปักเต้า (เทวดาผู้กำหนดเวลา เกิด และ ตาย) พิธีอิ้วเก้ง (พิธีแห่พระ) พิธีอาบน้ำมัน ขึ้นบันไดมีด พิธีโก้ยโห้ย (ลุยไฟ) พิธีโก้ยห่าน (สะเดาะเคราะห์) พิธีโข๊กุ๊น(พิธีเลี้ยงขุนทหาร)ตลอดจนการทรงพระ(หรือเรียกว่าลงพระ) ซึ่งเป็นการอัญเชิญเจ้า มาประทับในร่าง ของม้าทรง และแสดงอิทธิฤทธิ์ ด้วยการทรมานร่างกาย ในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรับทุกข์ แทนผู้ถือศีลกินผัก และเพื่อความเป็นสิริมงคล...นี่เป็นความเชื่อครับ ..ก็ขอให้ทุกท่าน..พิจารณาตามความเหมาะสมก็แล้วกัน
...มาภูเก็ตสิครับ..แล้วจะเห็นอะไรต่ออะไรอีกเยอะ..ถ้าสามารถกินอาหารที่ศาลเจ้าจัดให้ได้ ก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายไปเยอะ ..แต่ที่พักนี่ต้องจองแต่เนิ่นๆนะครับ..ผมขอเรียนเชิญทุกท่านด้วยความยินดีครับ

ข้อควรปฏิบัติ 10 ประการ สำหรับผู้ถือศีลกินผัก(ฟังหน่อยครับ)
1ชำระร่างกายให้สะอาดตลอดช่วงเทศกาล
2ทำความสะอาดเครื่องครัวและแยกใช้คนละส่วนกับผู้ที่ไม่ได้ถือศีลกินผัก
3ควรสวมชุดขาวตลอดช่วงเทศกาลกินผัก (ไม่จำเป็นเท่าไหร่..ความเห็นของผมเอง)
4ประพฤติตนดีทั้งกายและใจ
5ห้ามบริโภคเนื้อสัตว์ (สำคัญมาก)
6ห้ามมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเทศกาล
7ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา
8ผู้ที่อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ไม่ควรร่วมเทศกาลกินผัก
9หญิงมีครรภ์ไม่ควรดูพิธีกรรมใดๆ ในช่วงเทศกาล
10หญิงมีประจำเดือนไม่ควรร่วมพิธีกรรมใดๆ ในช่วงเทศกาล
.....ก็ขอให้ทุกท่านประพฤกติปฏิบัติตามสมควรแล้วกัน..ไม่ต้องเครียดครับ....แล้วผมจะเอาภาพต่างๆของเทศกาลกินผัก มาฝาก อีกนะครับ

...ดูข่าว.เกี่ยวกับการกินผัก..กันหน่อยนะครับ http://phuketindex.com/phuket-local-news/2008-09/phuket-thai-news-15-01.htm

ชาวเล ชาวเรา ชนพื้นเมืองที่เกือบถูกลืม


...เรื่องของชาวเล...ที่ภูเก็ต
ชาวเลในประเทศไทยเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งในหลายกลุ่มของประเทศไทย อาศัยอยู่แถบชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่บริเวณจังหวัดระนองตลอดไปจนถึงหมู่เกาะอาดัง-หลีเป๊ะ ลันตาและเกาะภูเก็ต กลุ่มชาวเลเหล่านี้มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง มีภาษาพูดและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ชาวเลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีสองกลุ่มด้วยกันคือ ชาวมอเก็นหรือมอแกนและชนชาวอูรักละโว้ยหรือโอรังลาโอ๊ด

กลุ่มที่ 1 ชาวมอเก็นหรือมอแกนกลุ่มที่อาศัยที่หมู่เกาะสุรินทร์
เป็นชนเผ่าเร่ร่อนที่ไม่ตั้งหลักแหล่งถาวร อาศัยอยู่บนเรือเป็นส่วนใหญ่ มีการที่โยกย้ายถิ่นฐานไปมาระหว่างชายฝั่งอันดามันของไทยและชายฝั่งทะเลอีกด้านของพม่า ปัจจุบันยังเป็นกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทยอยู่ภายใต้การดูแล(เพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรมหรือผลประโยชน์ด้านอื่นก็ไม่อาจทราบได้)ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

กลุ่มที่ 2 กลุ่มมอเก็นที่อาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านทับตะวันและบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดพังงา พูดภาษาไทยท้องถิ่นใต้ และได้สัญชาติไทยแล้ว

กลุ่มที่ 3 กลุ่มอูรักละโว้ยหรือโอรังลาโอ๊ด
เป็นชนเผ่าชาวเลที่ตั้งหลักแหล่งถาวรในประเทศไทยหลายปีแล้ว ได้ถูกกลมกลืนด้วยวัฒนธรรมสมัยใหม่และได้ปรับวิถีชีวิตดังเดิมเข้ากลมกลืนกับชาวไทยท้องถิ่นใต้(และบางส่วนได้ถูกผสมด้านเชื้อชาติกับชาวไทยในท้องถิ่น )ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่ภูเก็ต,ลันตาและหมู่เกาะอาดังหลีเป๊ะ เรียกขานโดยชาวท้องถิ่นไทยว่า " ชาวเล" หรือชาวอูรักละโว้ย แม้ว่าวิถีชีวิตของชาวเลจะกลมกลืนกับชาวบ้านมากแล้ว แต่ชาวเล ก็ยังรักษาภาษาและวัฒนธรรมของตนเองอย่างเหนียวแน่น

" ชาวเผ่าอูรักละโว้ยกับมอเก็นไม่เหมือนกันนะ พวกมอเก็นเป็นพวกอยู่ในเรือ อยู่ไม่เป็นที่ ส่วนพวกเราอูรักละโว้ยเป็นชาวเลที่อยู่ในหมู่บ้านมานานเป็นร้อยปีแล้ว ภาษาพูดก็ไม่เหมือนกันแต่ก็พอสื่อกันรู้เรื่อง" ลุงมณี ผู้อาวุโสชาวอุรักละโว้ยที่แหลมตุ๊กแกภูเก็ตชี้ ข้อแตกต่างให้เห็นด้วยภาษาไทยถิ่นใต้ชัดถ้อยชัดคำ

ผู้ชายชาวเลจะออกไปหาปลาในทะเล ในอดีตลุงมณีเล่าว่า ชาวเลเคยรอนแรมไปหาปลาไกลถึงฝั่งประเทศพม่า เมื่อหาปลาได้ที่ไหนก็จะตากปลาไว้ที่เกาะนั้น ส่วนน้ำก็หาได้ตามเกาะที่แวะผ่าน ตอนขากลับก็จะนำปลาแห้งกลับมาขายที่ภูเก็ต

ผู้หญิงชาวเล จะมีงานประจำวันคือการแกะหอยติบ(หอยชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายหอยนางรมแต่ขนาดเล็กกว่ามาก) ผมเคยถามลุงมณีว่า ทำไมผู้หญิงชาวเลจึงอ้วนทุกคน..คำตอบคือ ชาวเลกินแต่ของดีและไม่ทำอะไรนอกจากนั่งแกะหอยก็เลยอ้วนดังที่เห็น นี้คืออาชีพและวิถีความเป็นอยู่ของชาวเล

ชาวอุรักละโว้ยรักที่จะให้คนนอกเรียก ตนว่า" ไทยใหม่ " ..เกือบลืมบอกไปว่าชาวอุรักละโว้ยได้รับพระราชทานนามสกุล"ประโมงกิจ"จากสมเด็จย่าแล้วนะ ...นามสกุลของชาวอุรักละโว้ยจะเกี่ยวข้องกับน้ำทั้งสิ้น เช่น ประโมงกิจ..ช้างน้ำ และหาญทะเล เป็นต้น

ความเชื่อและศาสนา...แต่เดิมชาวอูรักละโว้ยนับถือวิญญาณ ผีปู่ย่าตายาย ต่อมาก็หันมานับถือศาสนาพุทธ(มีวัดของตนเองด้วยนะ)แต่ภายหลังจากการเกิดเหตุการสึนามิเมื่อปี 2547 ชาวอูรักละโว้ยได้รับความช่วยเหลือจากองค์การมนุษย์ธรรมจากประเทศตะวันตกดังนั้นชาวเลรุ่นใหม่จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริตส์เป็นจำนวนมาก

ประเพณีบางอย่างที่เกือบจะถูกลืม...ชาวเลใน ภูเก็ตและพังงาจะมีประเพณีการมารับ"ทาน"(ไม่เหมือนขอทานทั่วไปแต่เป็นประเพณีที่ต้องมาขอทาน)จากชาวไทยท้องถิ่นใต้บ้านในช่วงวันสาร์ทไทยหรือวันทำบุญเดือนสิบ ระหว่างการมารอรับทาน ชาวเลบางคนก็จะนำไม้ซางและลูกดอกมาขาย
ความเชื่อเรื่องการยกลูกให้เป็นลูกชาวเล

ระหว่างที่ชาวเลรับ"ทาน" ผู้มาขอทานจะร้อง "เพลงบอก" เพื่อเรียกให้เจ้าของบ้านออกจากบ้านมาให้ทาน เพลงบอกดังกล่าวมักจะ เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวใต้ฝั่งอันดามัน(ที่ถูกลืมจนหมดแล้ว )ระหว่างที่ชาวเลมารับการให้ทานนั้น ครอบครัวไหนที่มีลูกที่เลี้ยงยาก ก็จะขอให้ชาวเลช่วยผูกข้อมือ แล้วยกลูกตนให้เป็นลูกชาวเล เรียกว่ายกลูกให้เป็นลูกของชาวเลตามเคร็ด ว่างั้นเถอะ....เชื่อกันว่า เด็กที่เป็นลูกชาวเลทั้งหลาย จะเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ข้าพเจ้าตอนเด็กๆเป็นเด็กเลี้ยงยาก จึงถูกพ่อแม่ยกให้เป็นลูกชาวเลจนเป็นลูกที่เลี้ยงง่ายของพ่อแม่และกลายเป็นสามีที่เลี้ยงง่ายของภรรยาในเวลาต่อมา....ความหมายลึกๆของคำว่า"ชาวเล " ....เนื่องจากสมัยก่อน(ตอนข้าพเจ้ายังเด็ก) ชาวใต้แถบอันดามันจะไม่นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่แถบอยู่ชายทะเล
ดังนั้นคำว่า"ชาวเล"ในความหมายของคนท้องถิ่นอันดามัน นอกจากจะหมายถึงชาวเผ่าอูรักละโว้ย,มอเก็นหรือมอแกนแล้ว ยังใช้เรียกชาวไทยท้องถิ่นที่มีความเป็นอยู่ง่ายๆและไม่ค่อยรักษาความสะอาดอีกด้วย(ขออภัยจริงๆ ครับไม่ได้ตั้งใจกล่าวดูหมิ่นดูถูกแต่นี่คือเกร็ดของเรื่องจริงที่อยากเล่าให้ฟัง)

ลองฟังเสียงอูรักลาโว้ย..เขียนโดย @i ที่ 6:27 ก่อนเที่ยง 0 ความคิดเห็น

กระแสน้ำเชี่ยว ที่ช่องปากพระ

ช่องปากพระ.... กันอีกครั้ง




ช่องทางออกสู่ทะเลอันดามัน

เกาะภูเก็ตมีฝั่งทะเลสองฝั่งคือฝั่งตะวันตกด้านทะเลอันดามันและชายฝั่งตะวันออก(หรือทะเลใน)ด้านติดกับชายฝั่งแผ่นดินใหญ่พังงา ระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีการไหลเวียนของน้ำอยู่ตลอดเวลา ..ในช่วงน้ำขึ้น กระแสน้ำจากทะเลอันดามันจะไหลเข้าทางด้านชายฝั่งด้านฝั่งตะวันออก พอเวลาน้ำลง กระแสน้ำก็จะไหลย้อนกลับสู่ทะเลอันดามันอีกครั้งผ่านทางช่องแคบ " ช่องปากพระ " ซึ่งนอกจากจะที่เป็นทางออกสู่ทะเลอันดามันแล้ว ยังจัดเป็นส่วนแคบสุด..ที่แคบจนนักว่ายน้ำที่แข็งแรงสามารถว่ายข้ามได้อย่างสะบาย( 490 เมตร...กะประมาณโดยสายตา)

การข้ามช่องแคบแห่งนี้ ในอดีต ต้องอาศัยแพยนต์ของกรมเจ้าท่าทำการขนถ่ายรถยนต์และผู้โดยสาร ข้ามฟากไปมาระหว่างฝั่งท่านุ่นของฝั่งพังงาและท่าฉัตรชัยฝั่งภูเก็ต คุณสามรถจะมองเห็นรถยนต์จอดเรียงรายเพื่อรอแพยนต์ข้ามฟากได้อย่างชัดเจน ในระหว่างรอแพยนต์ จะมีพ่อค้าแม่ค้า นำอาหารใส่ถาดทูนศีรษะมาเร่ขายให้กับผู้โดยสารที่รอ การข้ามฟาก จะได้ยินเสียงเสนอขายสินค้าขรมไปหมด..
"ไข่ต้มครับไข่ต้ม(ไข่เป็ดนะครับไม่ใช่ไข่ไก่)...ลูกชิ้นครับลูกชิ้น(ทอดมัน) ยานัดครับยานัด(สัปปะรดภูเก็ต..ลูกเล็ก รสหวานกรอบ) ส้มแป้นครับส้มแป้น(ส้มเขียวหวาน).

..นอกจากนี้ ตรงริมถนน ทั้งสองฝั่งทะเล จะมีร้านค้าเรียงรายอยู่ทางด้านขวาของถนน อาหารที่ขายส่วนใหญ่ก็เป็นขนมจีน ข้าวราดแกงและ อาหารว่างระหว่างรอข้ามฟาก บรรยากาศเหล่านี้เริ่มซบเซาลงเมื่อมีโครงการสร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งทะเล ในการสร้างสะพานครั้งแรกบริษัทญี่ปุ่นได้มาประมูลโครงการ โดยการนำหินแกรนิตจากบ้านคอเอนมาถมเป็นเขื่อนกั้นทะเลโดยมีแนวคิดที่จะใช้สันเขื่อนเป็นถนนให้รถยนต์เล่นข้าม แต่โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ประสพความล้มเหลวเพราะแนวหินแกรนิตที่ถมไว้ ถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวพัดพาจนเสียหาย ในที่สุดก็ต้องยกเลิกโครงการ ทำให้การสร้างเขื่อนหรือสะพานข้ามทะเลครั้งแรกล้มเหลว
ต่อมาไม่นาน ก็มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างสะพานอีกครั้ง มีการออกแบบการก่อสร้งสะพานแบบใหม่ เป็นสะพานชนิดใช้ตอหม้อ ขนาดสองช่องจราจร การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี(ราคาแสนแพง 28 ล้านบาทในยุคนั้น) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้รับการตั้งชื่อ.. . สารสิน.... เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในยุคนั้น จัดได้ว่า สะพารสารสินเป็นสะพานข้ามทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ได้เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม ปี2510 และเป็นการปิดฉากการบริการอันยาวนานของแพยนต์มาตั้งแต่บัดนั้น

ทราบไหม.ว่า...สะพานสารสินมีความยาวเท่าไร?...ถ้าไม่ทราบ..อ่านต่อไปครับ...
จากการมีบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตกท่านหนึ่ง ได้เขียนไว้ว่า ระยะห่างระหว่างฝั่งภูเก็ตและพังงาเท่ากับระยะ.....วิถี กระสุนปืนสั้น..

เรื่องจริงครับ มีการกล่าวไว้ เช่นนั้นจริงๆ ผมจะขอนำบันทึกทางประวัติศาสตร์มาช่วยสนับสนุนคำกล่าวของผมสักเล็กน้อย...

อ้างถึง..บันทึกของ มองซิเออร์ เอเรต์ ผู้แทนบริษัทอินเดียตะวันออก ของฝรั่งเศสที่พูดถึงภูเก็ต ที่ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่ม 26 ใน “เรื่อง เกาะภูเก็ตเกี่ยวกับประเทศสยามอย่างไร” เขียนที่เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

ข้าพเจ้าจึงขอบอกให้ท่านทราบว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งข้าพเจ้าอยู่ในบัดนี้นั้นเป็นเกาะเล็ก ๆ วัดโดยรอบยาวประมาณ 35 ไมล์ ตั้งอยู่ริมทะเลตะวันตก แหลมมะละกาห่างจากฝั่งประมาณ ระยะทางปืนสั้น และอยู่ระหว่าง 6และ 8 ดีกรีของลุติจูดเหนือ บนเกาะภูเก็ตเต็มไปด้วยป่าทึบมีสัตวืป่ามากมาย ตั้งแต่เสือ ช้างแรดและสัตว์ร้ายอื่นๆอีกมากมาย "

นอกจากนี้ มองฺซิเออร์ เอเรต์ยังพูดถึงชาวภูเก็ตยุคนั้นว่า
"ในขณะนั้นมีผู้คนน้อยที่สุด ทั้งหมดคงจะมีพลเมืองราว 6,000 คนพลเมืองในเกาะนี้ เป็นคนป่าคนดง หรือจะใช้คำให้ดีหน่อย ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักกิริยาสุภาพ ซึ่งในประเทศสยามทั้งพระราชอาณาเขต ไม่มีที่ใดที่จะมีคน...เลวทราม...เช่นนี้เลย "

เจ็บปวดกับความเห็นของมองซิเออร์ ปากจัดคนนี้ นอกจากนี้ในการที่พม่าเข้าตีเกาะภูเก็ตในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก็ได้ยกข้ามทะเลทางช่องแคบแห่งนี้เช่นกัน ก็เพราะ..ความกว้างของทะเล.กว้างแค่วิถีกระสุนปืนสั้น...นี้แหละ ที่แคบจนไม่สามารถกั้นแสนยานุภาพทางเรือของทหารพม่าในยุคนั้นได้ ยังสงสัยว่าทหารพม่านั่งเรือหรือว่ายน้ำข้ามทะเลมายังเกาะภูเก็ต..แต่เหตุการเหล่านั้นก็ทำให้เกิดวีระสตรีขึ้นที่เกาะนี้ถึงสองท่านด้วยกันคือ ท้าวเทพกระษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร

ขอตอบก่อนจบครับ ช่องแคบตรงจุดสร้างสะพานสารสิน กว้างประมาณ 660 เมตรกับอีก 15 เซนติเมตรครับ(เพิ่มขึ้นอีก15ซ.ม.ตอนเกิดซึนนามิ..นักวิชาการเขาบอกนะ ..ไม่ใช่ผม.)

วันศุกร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2551

ช่องปากพระ..เล่าด้วยภาพ

ปากบาง หรือทางออกทะเลฝั่งท่านุ่น พังงา


ฝั่งพังงา ดุจากฝั่งภูเก็ต


สพานสารสินเก่า ไม่มีให้ดูอีกแล้ว



ช่องปากพระ มองจากสะพานท้าวเทพกะษัตรีย์