วันเสาร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2551

ช่องปากพระ.... กันอีกครั้ง




ช่องทางออกสู่ทะเลอันดามัน

เกาะภูเก็ตมีฝั่งทะเลสองฝั่งคือฝั่งตะวันตกด้านทะเลอันดามันและชายฝั่งตะวันออก(หรือทะเลใน)ด้านติดกับชายฝั่งแผ่นดินใหญ่พังงา ระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งจะไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงมีการไหลเวียนของน้ำอยู่ตลอดเวลา ..ในช่วงน้ำขึ้น กระแสน้ำจากทะเลอันดามันจะไหลเข้าทางด้านชายฝั่งด้านฝั่งตะวันออก พอเวลาน้ำลง กระแสน้ำก็จะไหลย้อนกลับสู่ทะเลอันดามันอีกครั้งผ่านทางช่องแคบ " ช่องปากพระ " ซึ่งนอกจากจะที่เป็นทางออกสู่ทะเลอันดามันแล้ว ยังจัดเป็นส่วนแคบสุด..ที่แคบจนนักว่ายน้ำที่แข็งแรงสามารถว่ายข้ามได้อย่างสะบาย( 490 เมตร...กะประมาณโดยสายตา)

การข้ามช่องแคบแห่งนี้ ในอดีต ต้องอาศัยแพยนต์ของกรมเจ้าท่าทำการขนถ่ายรถยนต์และผู้โดยสาร ข้ามฟากไปมาระหว่างฝั่งท่านุ่นของฝั่งพังงาและท่าฉัตรชัยฝั่งภูเก็ต คุณสามรถจะมองเห็นรถยนต์จอดเรียงรายเพื่อรอแพยนต์ข้ามฟากได้อย่างชัดเจน ในระหว่างรอแพยนต์ จะมีพ่อค้าแม่ค้า นำอาหารใส่ถาดทูนศีรษะมาเร่ขายให้กับผู้โดยสารที่รอ การข้ามฟาก จะได้ยินเสียงเสนอขายสินค้าขรมไปหมด..
"ไข่ต้มครับไข่ต้ม(ไข่เป็ดนะครับไม่ใช่ไข่ไก่)...ลูกชิ้นครับลูกชิ้น(ทอดมัน) ยานัดครับยานัด(สัปปะรดภูเก็ต..ลูกเล็ก รสหวานกรอบ) ส้มแป้นครับส้มแป้น(ส้มเขียวหวาน).

..นอกจากนี้ ตรงริมถนน ทั้งสองฝั่งทะเล จะมีร้านค้าเรียงรายอยู่ทางด้านขวาของถนน อาหารที่ขายส่วนใหญ่ก็เป็นขนมจีน ข้าวราดแกงและ อาหารว่างระหว่างรอข้ามฟาก บรรยากาศเหล่านี้เริ่มซบเซาลงเมื่อมีโครงการสร้างสะพานเชื่อมสองฝั่งทะเล ในการสร้างสะพานครั้งแรกบริษัทญี่ปุ่นได้มาประมูลโครงการ โดยการนำหินแกรนิตจากบ้านคอเอนมาถมเป็นเขื่อนกั้นทะเลโดยมีแนวคิดที่จะใช้สันเขื่อนเป็นถนนให้รถยนต์เล่นข้าม แต่โครงการสร้างเขื่อนแห่งนี้ประสพความล้มเหลวเพราะแนวหินแกรนิตที่ถมไว้ ถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวพัดพาจนเสียหาย ในที่สุดก็ต้องยกเลิกโครงการ ทำให้การสร้างเขื่อนหรือสะพานข้ามทะเลครั้งแรกล้มเหลว
ต่อมาไม่นาน ก็มีการรื้อฟื้นโครงการสร้างสะพานอีกครั้ง มีการออกแบบการก่อสร้งสะพานแบบใหม่ เป็นสะพานชนิดใช้ตอหม้อ ขนาดสองช่องจราจร การก่อสร้างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี(ราคาแสนแพง 28 ล้านบาทในยุคนั้น) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็ได้รับการตั้งชื่อ.. . สารสิน.... เพื่อเป็นเกียรติแก่นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในยุคนั้น จัดได้ว่า สะพารสารสินเป็นสะพานข้ามทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ได้เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม ปี2510 และเป็นการปิดฉากการบริการอันยาวนานของแพยนต์มาตั้งแต่บัดนั้น

ทราบไหม.ว่า...สะพานสารสินมีความยาวเท่าไร?...ถ้าไม่ทราบ..อ่านต่อไปครับ...
จากการมีบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตกท่านหนึ่ง ได้เขียนไว้ว่า ระยะห่างระหว่างฝั่งภูเก็ตและพังงาเท่ากับระยะ.....วิถี กระสุนปืนสั้น..

เรื่องจริงครับ มีการกล่าวไว้ เช่นนั้นจริงๆ ผมจะขอนำบันทึกทางประวัติศาสตร์มาช่วยสนับสนุนคำกล่าวของผมสักเล็กน้อย...

อ้างถึง..บันทึกของ มองซิเออร์ เอเรต์ ผู้แทนบริษัทอินเดียตะวันออก ของฝรั่งเศสที่พูดถึงภูเก็ต ที่ปรากฏในประชุมพงศาวดาร เล่ม 26 ใน “เรื่อง เกาะภูเก็ตเกี่ยวกับประเทศสยามอย่างไร” เขียนที่เมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2229 (ค.ศ. 1686) ข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า

ข้าพเจ้าจึงขอบอกให้ท่านทราบว่า เมืองภูเก็ต ซึ่งข้าพเจ้าอยู่ในบัดนี้นั้นเป็นเกาะเล็ก ๆ วัดโดยรอบยาวประมาณ 35 ไมล์ ตั้งอยู่ริมทะเลตะวันตก แหลมมะละกาห่างจากฝั่งประมาณ ระยะทางปืนสั้น และอยู่ระหว่าง 6และ 8 ดีกรีของลุติจูดเหนือ บนเกาะภูเก็ตเต็มไปด้วยป่าทึบมีสัตวืป่ามากมาย ตั้งแต่เสือ ช้างแรดและสัตว์ร้ายอื่นๆอีกมากมาย "

นอกจากนี้ มองฺซิเออร์ เอเรต์ยังพูดถึงชาวภูเก็ตยุคนั้นว่า
"ในขณะนั้นมีผู้คนน้อยที่สุด ทั้งหมดคงจะมีพลเมืองราว 6,000 คนพลเมืองในเกาะนี้ เป็นคนป่าคนดง หรือจะใช้คำให้ดีหน่อย ก็เป็นคนที่ไม่รู้จักกิริยาสุภาพ ซึ่งในประเทศสยามทั้งพระราชอาณาเขต ไม่มีที่ใดที่จะมีคน...เลวทราม...เช่นนี้เลย "

เจ็บปวดกับความเห็นของมองซิเออร์ ปากจัดคนนี้ นอกจากนี้ในการที่พม่าเข้าตีเกาะภูเก็ตในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ก็ได้ยกข้ามทะเลทางช่องแคบแห่งนี้เช่นกัน ก็เพราะ..ความกว้างของทะเล.กว้างแค่วิถีกระสุนปืนสั้น...นี้แหละ ที่แคบจนไม่สามารถกั้นแสนยานุภาพทางเรือของทหารพม่าในยุคนั้นได้ ยังสงสัยว่าทหารพม่านั่งเรือหรือว่ายน้ำข้ามทะเลมายังเกาะภูเก็ต..แต่เหตุการเหล่านั้นก็ทำให้เกิดวีระสตรีขึ้นที่เกาะนี้ถึงสองท่านด้วยกันคือ ท้าวเทพกระษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร

ขอตอบก่อนจบครับ ช่องแคบตรงจุดสร้างสะพานสารสิน กว้างประมาณ 660 เมตรกับอีก 15 เซนติเมตรครับ(เพิ่มขึ้นอีก15ซ.ม.ตอนเกิดซึนนามิ..นักวิชาการเขาบอกนะ ..ไม่ใช่ผม.)

ไม่มีความคิดเห็น: